นิทานเรื่อง นายดั้น จังหวัดนครศรีธรรมราช
นายดั้น เป็นคนตาบอดใส อยากได้นางริ้งไรเป็นภรรยา จึงส่งคนไปสู่ขอและนัดวันแต่ง โดยฝ่ายนางริ้งไรไม่รู้ว่าตาบอด เมื่อถึงวันแต่งงานนายดั้นพยายามกลบเกลื่อนความพิการของตนโดยใช้สติปัญญาและไหวพริบต่าง ๆ แก้ปัญหา เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าภาพขึ้นบนบ้าน นายดั้นกลับนั่งตรงนอกชาน เมื่อคนทักนายดั้นจึงแก้ตัวว่า "ขอน้ำสักน้อย ล้างตีนเรียบร้อย จึงค่อยคลาไคล ทำดมทำเช็ด เสร็จแล้วด้วยไว แล้วจึงขึ้นไป ยอไหว้ซ้ายขวา" ขณะอยู่กินกับนางริ้งไร วันหนึ่งนางริ้งไรจัดสำรับไว้ให้แล้วลงไปทอผ้าใต้ถุนบ้าน นายดั้นเข้าครัวหาข้าวกินเองทำข้าวหกเรี่ยราดลงใต้ถุนครัว นางริ้งไรร้องทักว่าเทข้าวทำไม นายดั้นจึงแก้ตัวว่า"เป็ดไก่เล็กน้อยบ้างง่อยบ้างเพลีย ตัวผู้ตัวเมีย ผอมไปสิ้นที่ อกเหมือนคมพร้า แต่เพียงเรามา มีขึ้นดิบดี หว่านลงทุกวัน ชิงกันอึ่งมี่ กลับว่าเรานี้ ขึ้งโกรธโกรธา"วันหนึ่งนางริ้งไรให้นายดั้นไปไถนา นายดั้นบังคับวัวไม่ได้ วัวหักแอกหักไถหนีเตลิดไป นายดั้นจึงเที่ยวตามวัว ได้ยินเสียงลมพัดใบไม้แห้งชายป่า เข้าใจว่าเป็นวัว จึงวิดน้ำเข้าใส่เพื่อให้วัวเชื่อง นางริ้งไรมาเห็นเข้าจึงถามว่าทำอะไร นายดั้นได้แก้ตัวว่า "พี่เดินไปตามวัว ปะรังแตนแล่นไม่ทัน จะเอาไฟหาไม่ไฟ วิดน้ำใส่ตายเหมือนกัน ครั้นแม่บินออกพลัน เอารังมันจมน้ำเสีย"อยู่มาวันหนึ่งนายดั้นจะกินหมาก แต่ในเชี่ยนหมากไม่มีปูน จึงร้องถามนางริ้งไร นางบอกที่วางปูนให้ แต่นายดั้นหาไม่พบ ได้ร้องถามอีกหลายครั้งแต่ก็ยังหาไม่พบ นายดั้นจึงร้องท้าให้นางริ้งไรขึ้นบ้านมาดู หากปูนมีตามที่บอก จะยอมให้นางริ้งไรเอาปูนมาทาขยี้ตา นางริ้งไรจึงเอาปูนมาทาขยี้ตานายดั้น นายดั้นถือโอกาสจึงร้องบอกว่าตาบอดเพราะปูนทา นางริ้งไรจึงต้องหายามารักษาจนตาหายบอดได้บวชเรียน
นิทานเรื่องนายดั้น ให้แนวคิดดังนี้
1. สะท้อนภาพของสังคมชนบทนครศรีธรรมราช ที่ชาวบ้านยึดถือความมีน้ำใจต่อกัน คอยช่วยเหลือกันโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย
2.ลักษณะความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชนบทที่เน้นความเรียบง่ายไม่มีพิธีรีตองให้ยุ่งยากถือเอาความสะดวกง่ายเป็นหลักมีการเล่นหัวหยอกล้อกันโดยไม่ถือสา
3. ผู้มีปัญหาและปฏิภาณไหวพริบดี จะเป็นผู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆได้สำเร็จแม้จะประกอบกิจการงานใดก็จะสำเร็จด้วยดี
นิทานเรื่อง ตากใบ จากจังหวัดนราธิวาส
เมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้ว ในราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีพ่อค้าจีนคนหนึ่งล่องเรือสำเภามาจากประเทศจีน เพื่อไปขายสินค้ายังแหลมมลายู ในเรือสำเภานั้นได้บรรทุกสินค้า เครื่องปั้นดินเผามาเต็มลำเรือ เช่น เครื่องลายคราม ชามเบญจรงค์ โอ่ง ไห ลายมังกร เป็นต้น สินค้าเหล่านี้มีลวดลายสีสันงดงามมาก ในหนึ่งขณะที่เรือสำเภาแล่นอยู่กลางทะเลใกล้ปากอ่าวทางตอนใต้ของไทยได้บังเกิดลมพายุ คลื่นลมแรงจัดมาก จนในที่สุดเรือกำลังจะจม พ่อค้าจีนจึงได้สั่งให้ปลดใบเรือลง จากนั้นเรือค่อย ๆ จมลงในท้องทะเล พ่อค้าจีน ไต้ก๋ง พร้อมลูกเรือทุกคนได้พยายามช่วยเหลือตัวเอง จนสามารถขึ้นเกาะที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งได้ทุกคน เมื่อคลื่นลมสงบทุกคนจึงพากันไปกู้เรือและนำสินค้าขึ้นฝั่งได้สำเร็จ จากนั้นจึงเอาใบเรือเสื้อผ้า ขึ้นไปตากตามต้นไม้และกิ่งไม้ มีแขกมลายูคนหนึ่งมีอาชีพตัดไม้ไปขาย ได้มาตัดไม้ใกล้บริเวณที่พ่อค้าจีนตากใบเรือและเสื้อผ้า เมื่อเห็นสิ่งเหล่านั้น แขกมลายูจึงคิดที่จะขโมย จึงไปตัดต้นไม้ที่มีเสื้อผ้าตากอยู่ แต่พ่อค้าจีนและลูกเรือกลับมาเห็นเสียก่อนจึงร้องตะโกนขึ้นว่า เจ๊ะ�.เฮ้ ๆ ๆ ๆ เอาเสื้อผ้าอั้วคืนมา แขกมลายูตกใจมาก จึงกล่าวขอโทษและรักปากว่าจะไม่ทำอย่างนี้อีก พ่อค้าจีนและลูกเรือทั้งหมดจึงยกโทษให้ และได้อาศัยทำมาหากินบนเกาะนี้อย่างมีความสุขต่อมาได้มีพ่อค้าสำเภาจีนลำอื่นล่องเรือมาค้าขายบนเกาะนี้มากขึ้น สินค้าส่วนใหญ่ที่นำมาขายมีชามเบญจรงคฺ์ โอ่ง ไหลายมังกร เครื่องลายคราม จนทำให้ชาวเกาะแห่งนี้มีเครื่องใช้เหล่านี้ทุกครัวเรือน นับเป็นการนำศิลปะ ประติมากรรมมาเผยแพร่ในประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งสามารถไปชมได้ที่วัดชลธาราสิงเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
นิทานเรื่อง เกาะหนูเกาะแมว จังหวัดสงขลา
นานมาแล้วมีพ่อค้าจีนคนหนึ่งคุมเรือสำเภาจากเมืองจีนมาค้าขายที่เมืองสงขลา เมื่อขายสินค้าหมดแล้ว จะซื้อสินค้าจากสงขลากลับไปเมืองจีนเป็นประจำ วันหนึ่งขณะที่เดินซื้อสินค้าอยู่นั้น พ่อค้าได้เห็นหมากับแมวคู่หนึ่งมีรูปร่างหน้าตาน่าเอ็นดู จึงขอซื้อพาลงเรือไปด้วย หมากับแมวเมื่ออยู่ในเรือนาน ๆ ก็เกิดความเบื่อหน่ายและอยากจะกลับไปอยู่บ้านที่สงขลา จึงปรึกษาหาวิธีการที่จะกลับบ้าน หมาได้บอกกับแมวว่าพ่อค้ามีดวงแก้ววิเศษที่ใครเกาะแล้วจะไม่จมน้ำ แมวจึงคิดที่จะได้แก้ววิเศษนั้นมาครอบครอง จึงไปข่มขู่หนูให้ขโมยให้และอนุญาตให้หนูหนีขึ้นฝั่งไปด้วย ครั้นเรือกลับมาที่สงขลาอีกครั้งหนึ่ง หนูก็เข้าไปลอบเข้าไปลักดวงแก้ววิเศษของพ่อค้าโดยอมไว้ในปาก แล้วทั้งสาม ได้แก่ หมา แมว และหนู หนีลงจากเรือว่ายน้ำจะไปขึ้นฝั่งที่หน้าเมืองสงขลา ขณะที่ว่ายน้ำมาด้วยกัน หนูซึ่งว่ายน้ำนำหน้ามาก่อนก็นึกขึ้นได้ว่าดวงแก้วที่ตนอมไว้ในปากนั้นมีค่ามหาศาล เมื่อถึงฝั่งหมากับแมวคงแย่งเอาไป จึงคิดที่จะหนีหมากับแมวขึ้นฝั่งไปตามลำพัง ดวงแก้วจะได้เป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียวตลอดไป แต่แมวที่ว่ายตามหลังมาก็คิดจะได้ดวงแก้วไว้ครอบครองเช่นกัน จึงว่ายน้ำตรงรี่เข้าไปหาหนู ฝ่ายหนูเห็นแมวตรงเข้ามาก็ตกใจกลัวแมวจะตะปบจึงว่ายหนีสุดแรงและไม่ทันระวังตัวดวงแก้ววิเศษที่อมไว้ในปากก็ตกลงจมหายไปในทะเล เมื่อดวงแก้ววิเศษจมน้ำไปทั้งหนูและแมวต่างหมดแรงไม่อาจว่ายน้ำต่อไปได้ สัตว์ทั้งสองจึงจมน้ำตายกลายเป็น "เกาะหนูเกาะแมว" อยู่ที่อ่าวหน้าเมืองสงขลา ส่วนหมาก็ตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนถึงฝั่ง แต่ด้วยความเหน็ดเหนื่อยจึงขาดใจตายกลายเป็นหินเรียกว่า "เขาตังกวน" เป็นภูเขาตั้งอยู่ริมอ่าวสงขลา ส่วนดวงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากหนูก็แตกแหลกละเอียดเป็นหาดทราย เรียกสถานที่นี้ว่า "หาดทรายแก้ว" ตั้งอยู่ทางเหนือของอ่าวสงขลา
นิทานเรื่อง แก่นข้าว จังหวัดสงขลา
ในสมัยก่อนมนุษย์เราไม่รู้จักกินข้าว คงกินแต่รำข้าว เมื่อทำนาได้ข้าวก็จะฝัดเอาแต่รำมากินส่วนเมล็ดข้าวซึ่งเรียกว่า "แก่นข้าว" จะทิ้งเป็นกอง ๆ อยู่ทั่วไป ต่อมามีครอบครัวหนึ่งลูกเล็กคนหนึ่งไม่ยอมกินรำข้าว เมื่อพ่อแม่จะต้มรำข้าวให้กินเหมือนลูกคนอื่นทั่วไป เด็กคนนั้นจะไม่ยอมกินและร้องขึ้นทุกครั้ง จนพ่อแม่รู้สึกรำคาญจึงพูดประชดว่า "หมึงอีกินอ้ายไหรหา ร้อง ๆ เดี๋ยวกูต้มแก่นข้าวให้กินให้ตาย ๆ ไปเสียแหละ" พอพ่อแม่พูดเช่นนั้น ลูกคนนั้นก็หยุดร้อง แต่อยู่สักครู่ก็ร้องอีก พ่อแม่จึงพูดด้วยอารมณ์เสียอีกว่า "ทีนี้กูเอาแก่นข้าวมาต้มให้กินจริง ๆ แหละ ร้องไปตะ" ลูกคนนั้นก็หยุดร้องอีก พ่อแม่จึงไปเอาแก่นข้าวต้มให้กินจริงปรากฏว่า ลูกคนนั้นดีอกดีใจ กินข้าวได้มาก และเมื่ออิ่มก็นอนหลับ ฝ่ายพ่อแม่ตกใจมากนึกว่าลูกตายแล้ว เพราะกินแก่นข้าวซึ่งคนเขาไม่กินกันเข้าไปมาก พ่อแม่ก็ได้แต่ร้องห่มร้องไห้ ฝ่ายลูกนอนหลับสักครู่ก็ตื่นขึ้นมายิ้มแล้วหัวเราะอย่างสุขใจ พ่อแม่เห็นเช่นนั้นก็ดีใจจึงต้มแก่นข้าวให้ลูกกินเรื่อยมา จนข่าวนี้ลือไปทั่วจึงได้หันมากินแก่นข้าวแทนรำข้าวกันตั้งแต่มาจนทุกวันนี้
นิทานเรื่อง หมาป่ากับต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ จังหวัดปัตตานี
นานมาแล้ว มีหมาป่าผอมโซตัวหนึ่ง ไปบนบานกับต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ขอเป็นวัวบ้านตัวอ้วนพี เมื่อกลายร่างเป็นวัวถูกชาวบ้านใช้ไถนา เกิดความเหนื่อยเมื่อยล้า จึงไปบนบานกับต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ว่าขอเป็นม้า แต่กลับถูกพระราชาผู้ครองนครสั่งให้ทหารจับตัวไปเป็นพาหนะ เกิดความเบื่อหน่ายอีก จึงไปบนบานกับต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ว่าขอเป็นพระราชาเสียเอง เมื่อได้เป็นพระราชาสมใจแล้วเขายังมีความต้องการเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ จึงสั่งทหารให้ไปตัดต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เพื่อต่อเรือ ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์โกรธมากที่ทำคุณไม่ขึ้น จึงบอกให้ทหารไปตามพระราชามาตัดเอง เมื่อพระราชามาถึงต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ได้กล่าวตำหนิในความไม่รู้จักพอ และสาปให้กลายร่างกลับเป็นหมาป่าผอมโซเช่นเดิม
นิทานเรื่อง ตำนานพระขวางจังหวัดชุมพร
พระขวางเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ประดิษฐานอยู่ในวัดพระขวาง ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ ณ ต.ขุนกระทิง อ.เมือง จ.ชุมพร ตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยตามน้ำมาจากพม่าจนมาติดขวางอยู่หน้าวัดร้างแห่งนี้ ชาวบ้านจึงใช้เชือกลากเพื่อนำไปไว้ในวัดแต่ลากไม่ขึ้น ตกกลางคืนพระองค์นี้ได้เข้าฝันชาวบ้านว่าให้ สร้างที่อยู่ให้เรียบร้อยและเอาสายสิญจน์เจ็ดเส้นพันรอบองค์พระแล้วจะขึ้นเอง วันรุ่งขึ้นจึงมีการปฏิบัติตามและสามารถนำพระขึ้นมาประดิษฐานได้ จึงมีการขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระขวาง" และเป็นที่มาของชื่อไว้ด้วยเมื่อพระขวางเป็นพระพุทธรูปประจำวัดแล้ว ปรากฏเหตุการณ์ประหลาดกล่าวคือ พระและสามเณรในวัดค่อย ๆ หายไปเรื่อย ๆ ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่ชาวบ้านและพระภิกษุในวัดเป็นอย่างยิ่ง จนตกกลางคืนวันหนึ่งมีชาวบ้านแอบดูพระพุทธรูปองค์นี้และพบเห็นพระกินเด็กและสามเณร จึงนำความไปแจ้งต่อเจ้าอาวาสวัด เจ้าอาวาสจึงใช้ยันต์ปิดไว้และได้นำ "ปรอท" ซึ่งบรรจุอยู่ในองค์พระออก นับแต่นั้นเป็นต้นมาก็ไม่ปรากฏว่ามีใครหายไปอีกเลย
นิทานเรื่อง ตำนานเขาช้าง จังหวัดพังงา
เดิมมีพี่น้อง 2 คน พี่ชื่อยมดึง เป็นชาย น้องชื่อยมโดย เป็นหญิง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ประจวบคีรีขันธ์ ต่อมานางยมโดยเสียชีวิต ตายมเศร้าโศกมากจึงละทิ้งถิ่นเดิมไปตามยถากรรมจนมาถึงปลายคลองแสง ในเขตอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฏร์ธานี และอาศัยอยู่กับตาโจงโดงในละแวกบ้านไกรสร ซึ่งมีอาชีพหาน้ำมันชันจากต้นยาง เนื่องจากตายมดึงเป็นคนขยันจนตาโจงโดงพอใจมาก ถึงกับยกนางทองตึงให้แก่ตายมดึงครั้นอยู่มาวันหนึ่งมีโขลงช้างป่าเข้ามาทำลายไร่ข้าวและผักผลไม้ของตายมดึง ไล่ไปแล้วก็กลับมากินอีกเป็นหลายคราวจนนายยมดึงโกรธแค้น จะฆ่าช้างทั้งโขลงนั้นให้ได้ ยังมีตางุ้ม เป็นชาวบ้านพุมเรียง อำเภอไชยามีอาชีพค้าขายเดินทางไปต่างเมืองอยู่เสมอ ตางุ้มมีช้างอยู่ 2 เชือก เป็นช้างพังและช้างพลายเพื่อเป็นพาหนะในการบรรทุกสินค้า คราวนั้นตางุ้มเดินทางจากไชยาไปค้าขายถึงเขาพนมและจะต่อไปยังตะกั่วป่า ขณะตางุ้มพักช้างอยู่นั้น โขลงช้างที่ตายมดึงไล่วิ่งผ่านมา ช้างพลายของตางุ้มเห็นช้างพังงามเข้าก็กระชากปลอกขาดออกวิ่งติดตามนางช้างพังป่านั้นไป ได้อาละวาดต่อสู้กับช้างพลายป่าจนฝูงช้างแตกกระจัดกระจายหนีไปคนละทิศละทาง จนเป็นเหตุให้ตายมดึงสำคัญผิดติดตามล่าช้างของตางุ้มเชือกหนึ่งด้วย ตายมดึงสะกดรอยล่าช้างกับหมาตัวหนึ่ง ตามมาจนถึงคลองสก ซึ่งน้ำเชี่ยวมาก ช้างพังเชือกหนึ่งกำลังท้องแก่ตกใจวิ่งหนี จนพลาดตกลงไปในคลองนั้น แรงกระแทกทำให้ตกลูกออกมา ลูกช้างตัวนั้นกลายเป็นหินอยู่กลางคลองสก จึงเรียกว่า "หินลูกช้าง" มาจนบัดนั้นตายมดึงยังคงติดตามรอยช้างต่อไป โดยลากหอกตามไปเรื่อย ๆ ทางที่ลากหอกไปนั้น ทำให้ดินและหินแยกเป็นทางน้ำอยู่ในเขตอำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เรียกหมู่บ้านแถบนั้นว่า "บางลากหอก" หรือบางตาม จนมาถึงทุกวันนี้ ตายมดึงตามช้างไปจนถึงช่องเขาในป่าลึก ในตำบลคลองสก ณ ที่นั้นมีม้าตัวหนึ่งเหลียวมาดูตายมดึง เขาช่องนั้น จึงได้ชื่อว่า "ช่องม้าเหลียว"
ครั้นไล่ต่อไปจนเกือบจะทันตายมดึงได้เอาดินปืนใส่กระบอกปืนจ้องยิง แต่กระสุนพลาดไปจึงเรียกสถานที่ที่กระสุนตก ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ บ้านบางหมานว่า "ช่องลูกปลาย" และด้วยความโกรธที่ยิงช้างไม่ถูกตายมดึง จึงโยนปืนทิ้ง ปืนไปตกบนภูเขาตรงหน้าวัดสองพี่น้อง ตำบลคลองสก จึงเรียนภูเขานั้นว่า "เขาโยน"ตายมดึงเหนื่อยมาก จึงปล่อยให้หมาที่ตามมาด้วยไล่ช้างไปก่อน หมาไล่ไปพบแลน (ตัวเงินตัวทอง) แลนวิ่งหนีลงรู ซึ่งอยู่บนเขาตรงหน้าถ้ำวราราม แต่แลนถูกหมาตะครุบได้ตรงส่วนหาง หางแลนจึงหลุดคารูนั้นอยู่ จึงเรียกสถานที่นั้นว่า "แลนคารู" ครั้นแลนหลุดไปได้หมาได้แต่แหงนดู จึงเรียกที่บริเวณนั้นว่า "ย่านหมาแหงน" ฝ่ายตายมดึงได้ใช้พร้าขว้างแลนพลาดไปถูกภูเขา พร้าหัก จึงเรียกสถานที่นั้นว่า "เขาพร้าหัก" ครั้นไล่ต่อไปอีกเกิดฝนตกหนักจำเป็นต้องเอาดินปืนทิ้งไว้ในถ้ำ จึงเรียกถ้ำนั้นว่า "ถ้ำดินปืน" ช้างพลายของตางุ้มถูกตายมดึงตามล่าไม่ลดละต้องเตลิดหนีไปจนถึงแดนเมืองตะกั่วป่า ไปหยุดนอน ณ ป่าแห่งหนึ่งในเขตอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา จึงได้ชื่อว่า "บ้านช้างนอน" พอตายมดึงตามมาเกือบทันช้างก็หนีต่อไปจนผ่านช่องเขาซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอท้ายเหมืองกับอำเภอตะกั่วทุ่ง ตายมดึงเห็นแผ่นหินใหญ่วางอยู่จึงยืนลับหอกกับแผ่นหินนั้น ที่นั่นจึงได้ชื่อว่า "เขาหินลับ" สืบมาจนถึงทุกวันนี้ตายมดึงตามล่าจนเข้าเขตเมืองพังงา ก็เป็นที่ป่ารกและฝนตกหนัก จึงปืนขึ้นไปบนภูเขาลูกหนึ่ง แล้วชะโงกดูช้างเชือกนั้น ปัจจุบันบริเวณนั้นจึงเรียกว่า "ทุ่งคาโง่ก" พอตายมดึงเห็นช้างก็รีบลงมาใช้หอกแทงช้างนั้นทันที หอกปักเข้าที่ขาข้างหนึ่ง ทำให้ขาช้างเป็นแผลใหญ่ และพิการเดินไม่ถนัด เรียกบริเวณที่ช้างถูกแทงขานั้นว่า "บ้านแผล" (อยู่ในเขตอำเภอเมืองพังงา)
ช้างยังกระเสือกกระสนหนีต่อไปจนหมดแรงก็หมอบนอนอยู่กลางแดด ปัจจุบันเรียกบริเวณนั้นว่า "บ้านตากแดด" ตายมดึงได้ใช้หอกแทงตรงท้องของช้างเลือดไหลทะลักออกมาในที่สุดก็สามารถล้มช้างพลายของตางุ้มได้สำเร็จช้างนั้นกลายเป็นหินเรียกว่า "เขาช้าง" ตรงส่วนที่เป็นท้องของช้าง ซึ่งมีเลือดไหลทะลักออกมานั้น กลายเป็นน้ำตก และท้องช้างกลายเป็นถ้ำใหญ่เรียกว่า "ถ้ำพุงช้าง" และด้วยความแค้นของตายมดึงได้ผ่าท้องช้างล้วงเอาตับไตไส้พุงออกมาต้มแกงกินเป็นอาหาร พอกินเสร็จก็ยกหม้อข้าวหม้อแกงเหวี่ยงลงในวังน้ำใกล้ ๆ นั้น ปัจจุบันเรียกบริเวณนั้นว่า "วังหม้อแกง" ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับตลาดพังงา และต่อมาคำว่า "พิงงา" นี้เอง ได้กลายมาเป็น "พังงา" ฝ่ายตางุ้มเจ้าของช้างเที่ยวตามหาช้างของตนไม่พบ ตามมาจนถึงพังงา จึงรู้ว่าช้างของตนถูกฆ่าเสียแล้วก็เสียใจจนขาดใจตายตามช้างไป แล้วร่างของตางุ้มกลายเป็นภูเขาเรียกว่า "เขาตางุ้ม" นั่งเฝ้าอยู่ใกล้ ๆ ซากช้าง คือ "เขาช้าง" นั้นเอง บางตำนานเล่าว่าช้างของตางุ้ม เป็นช้างพังและมีงาเล็ก ๆ เมื่อถูกงาออกจึงเรียกว่า "พังงา" และบางตำนานเล่าว่า ช้างที่ถูกฆ่านั้นเป็นช้างของตายมดึงที่ขี่ไปแต่งงาน แล้วช้างหลุดไปทำลายพืชไร่ของเขา จึงถูกฆ่าตำนานที่เกี่ยวกับเขาช้างนี้ เนื่องจากมีมานานผู้เล่าจึงมักนำเอาสถานที่อื่น ๆ ในบริเวณนั้นมาเชื่อมโยงเสริมต่อ จึงพิสดารออกไปมากมาย ดังเช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ในจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128 ว่า "เขาช้างที่กล่าวมาแล้วนั้นมีเรื่องเล่ามาว่า ตายมดึงได้ผูกช้างไว้จะไปช่วยการแต่งงานลูกสาวตาม่องล่าย แต่ช้างได้ไปเหยียบข้าวในนาของตายมดึงเสียไปมาก แล้วก็หนี ตายมดึงไล่ช้างมาตั้งแต่ตะกั่วป่ามาทันเข้าที่นี่ แล้วฆ่าช้างนั้นตาย ตายมดึงถอนงาช้างไปพิงไว้ที่เขาลูกหนึ่ง จึงมีชื่อว่า "เขาพิงงา" อยู่เหนือเขาช้างเล่ากันต่อไปว่าเมืองนี้เดิมเรียกว่า "เมืองพิงงา" มาภายหลังจึงเพี้ยนไปเป็น พังงาแทน ส่วนช้างที่ตายมดึงฆ่าตายนั้น ที่ผูกอยู่บนหลังช้างได้ตกลงมาคว่ำอยู่ทางท้ายช้าง แล้วกลายเป็นเขาอยู่ต่อท้ายเขาช้างบัดนี้"