จดหมายเปิดผนึก ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.......

จดหมายเปิดผนึก ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ....... วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2567


ตามที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้จัดประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.....ในเวลานี้ โดยมีเป้าหมายที่จะเร่งรีบเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพื่อที่รัฐบาลไทยจะนำไปรายงานความก้าวหน้าที่ต่อที่ประชุมประเทศภาคีสมาชิก (COP) ครั้งที่ 29 ที่ประเทศอาเซอร์ไบจันในเดือนพฤศจิกายน 2567 

พวกเราภาคประชาสังคมที่ทำงานกับชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลักดันนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดความยั่งยืนและเป็นธรรม และคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศ มีความกังวลต่อหลักคิด เนื้อหา กระบวนการรับฟังความคิดเห็น และกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นอย่างมากว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้กำลังไปในทิศทางที่ผิด นอกจากจะไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่รัฐและสังคมจะลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อปกป้องโลกได้จริงแล้ว ยังจะกลายเป็นเครื่องมือส่งเสริมกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ ทุนข้ามชาติอุตสาหกรรมฟอสซิลและอื่น ๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกใช้ฟอกเขียว เลี่ยงความรับผิดชอบในการลดก๊าซของตนด้วยการลงทุนซื้อสิทธิปล่อยก๊าซจากตลาดคาร์บอน ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองสิทธิและความเป็นธรรมของประชาชนจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังจะทำให้ประชาชน และระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติได้รับผลกระทบจากแนวนโยบาย เครื่องมือ และโครงการจัดการก๊าซเรือนกระจกที่จะถูกรับรองจากกฎหมายฉบับนี้


ปัญหาในด้านแนวคิดและหลักการ หลักการและเหตุลที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย 

  1. ไม่ได้บ่งบอกสาเหตุปัญหาความเสี่ยงและผลกระทบทางนิเวศ เศรษฐกิจ สังคมของประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคต ไม่ได้กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศจากผลกระทบภูมิอากาศ ซึ่งในหลายประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย มีการกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้เป็นหมุดหมายสำคัญที่ประเทศจะจัดการปัญหา 

  2. กฎหมายไม่ได้กำหนดหลักการปกป้อง คุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิประชาชนในสภาพภูมิอากาศที่ยั่งยืนและเป็นธรรมอันเป็นหลักสากล หากแต่กำหนดเพียงเจตจำนงค์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ยั่งยืนโดยบรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ สร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างรายได้ใหม่จากกลไกราคาคาร์บอน และผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อเศรษฐกิจที่มีมูลค่าและยั่งยืน

3) กฎหมายไม่ได้ตระหนักและรับรองหลักการความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice) สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Right to Healthy Environment) ความเป็นธรรมระหว่างคนรุ่นเดียวกันและคนรุ่นต่อไป (Intrageneration and Intergeneration) ซึ่งล้วนเป็นหลักการสำคัญที่ตั้งอยู่บนฐานความเป็นธรรมในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรธรรมชาติของคนแต่ละกลุ่ม การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและ การเยียวยากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน อันเป็นสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจแยกออกจากประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และเป็นสิทธิของประชาชนที่ควรต้องได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อเป็นหลักประกันในการดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน 


ปัญหาด้านเนื้อหา

  1. เนื้อหามุ่งแต่ตลาดคาร์บอนเพื่อประโยชน์ภาคธุรกิจ เนื้อหาส่วนใหญ่ 62 มาตรา จาก 180 มาตรา (ราว 1 ใน 3) ของร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นเรื่องตลาดคาร์บอนที่มุ่งแต่เพียงการรับรองส่งเสริมตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจที่ภาครัฐโดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกฯ (อบก.) และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมได้พัฒนาขึ้น ให้มีมูลค่าและความชอบธรรมที่ธุรกิจจะใช้ลดต้นทุนการปรับระบบธุรกิจคาร์บอนต่ำ และสามารถส่งสินค้าไปขายต่างประเทศที่มีการตั้งกำแพงนำเข้าสินค้าที่กระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนสูง ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมุ่งแค่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ แต่ไม่ได้มีระบบลดก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานความรับผิดชอบอย่างตรงไปตรงมา ไม่เชื่อมโยงกับปัญหาผลกระทบของธรรมชาติ และประชาชนที่เสี่ยง เปราะบางจากภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สุด 

  2. ไม่มีทางเลือกนโยบาย จำกัดเครื่องมือทางนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกเฉพาะตลาดคาร์บอน ไม่มีทางเลือกระบบการจัดการลดก๊าซที่หลากหลาย เมื่อพิจารณาจากเครื่องมือนโยบายประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ใช้ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะมีทั้งนโยบายด้านภาษีคาร์บอน นโยบายตลาดคาร์บอน นอกจากนี้สหประชาชาติยังกำหนดไว้ในมาตรา 6.8 ของความตกลงปารีส ให้ประเทศสมาชิกพัฒนาแนวนโยบายลดก๊าซฯ โดยไม่ใช้กลไกตลาด (เนื่องจากไม่ว่าป้องกันการฟอกเขียวได้ยาก) แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้มุ่งแต่ตลาดคาร์บอนฯ การค้าขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต แม้จะระบบภาษีคาร์บอนก็ใช้เป็นส่วนเสริมเติมระบบตลาดคาร์บอน 

  3. ไม่มีระบบป้องกันการฟอกเขียวจากคาร์บอนเครดิต แม้ระบบตลาดคาร์บอนจะป้องกันการฟอกเขียวได้ยาก แต่สหประชาชาติโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้าน Net Zero ภาคเอกชนที่ยังยอมรับระบบตลาดคาร์บอนฯ อยู่ก็ได้เสนอไว้ในปี 2022 ให้มีการจำแนกกันธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนฯ สูง เช่น อุตสาหกรรมฟอสซิลไม่ให้เข้าตลาดคาร์บอน จนกว่าจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่ไม่พึ่งฟอสซิลเสียก่อน และการใช้คาร์บอนเครดิตก็ใช้เป็นมาตรการเสริม และไม่สามารถนำมาชดเชยการปล่อยคาร์บอนฯ จากการผลิตหลักของตนเองได้ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ใช้ระบบตลาดคาร์บอนฯ กลับไม่มีมาตรการป้องกันการฟอกเขียวจากการลงทุนข้ามชาติและธุรกิจในประเทศเลย

  4. ไม่มีระบบกำหนดเพดานการลดปล่อยก๊าซฯ ในแต่ละภาคส่วนให้ชัดเจน แม้การกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซฯ ที่ชัดเจน ควรจะกำหนดไว้ในแผนแม่บทและแผนจัดสรรสิทธิ แต่ตัวกฎหมายต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ และกระบวนการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซของแต่ละภาคส่วนไว้ โดยมีทั้งอำนาจควบคุมบังคับและลงโทษ ทั้งการทำฐานข้อมูล การแจ้งการปล่อย และการประเมินผลลัพธ์ว่าเป็นไปตามเพดานหรือไม่ และไม่ควรนำคาร์บอนส่วนเกินจากเพดานไปกำหนดเป็นสิทธิซื้อขายกัน อันจะทำให้เกิดการเบี่ยงความรับผิดชอบทางตรงได้ แต่การที่ร่างกฎหมายไม่กำหนดกรอบอำนาจหน้าที่ กระบวนการการกำหนดเพดาน การควบคุมบังคับไว้ จะทำให้ภาคเอกชนมีอิสระ และไม่มีถูกบังคับให้รับผิดชอบได้ 

  5. ไม่มีระบบคุ้มครองสิทธิชุมชน ประชาชนต่อผลกระทบจากคาร์บอนเครดิตและธุรกิจลดโลกร้อน เนื่องจากปัญหาคาร์บอนเครดิตเสี่ยงจะนำไปสู่ผลกระทบทางนิเวศ เศรษฐกิจ ฐานทรัพยากรของชุมชนและประชาชน โดยเฉพาะด้านป่าไม้ที่จะถูกแปรเป็นป่าคาร์บอนเครดิต ทำให้ชาวบ้านเสียสิทธิจัดการทรัพยากร ระบบการปลูกป่ากระทบนิเวศ ความมั่นคงอาหาร เกิดภาระในการดูแลพื้นที่ป่า และมีปัญหาการแบ่งปันผลประโยชน์ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีโครงการลดคาร์บอนฯ อื่น ๆ เช่น เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน (CCS) วิศวภูมิศาสตร์ โรงไฟฟ้าเขื่อน นิวเคลียร์ ชีวภาพ และอื่น ๆ ที่อ้างเป็นเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ อ้างสิทธิคาร์บอนเครดิต แต่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและชุมชน ดังนั้นจำเป็นต้องมีระบบการคุ้มครองสิทธิชุมชน ประชาชนในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใตทั้งระดับนโยบาย และโครงการอย่างทั่วถึงและมีความหมาย ผ่านเครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (SEA) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในทุกโครงการที่อาจจะก่อหรือส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนทั้งทางตรงและทางอ้อม จากโครงการเหล่านี้ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีกรอบการคุ้มครองสิทธิชุมชนและประชาชนอย่างจริงใจแต่อย่างใด 

  6. ไม่มีความชัดเจนในเป้าหมาย ระบบสร้างการปรับตัวของประชาชนต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ในร่างกฎหมายฯ มาตรา 134-141 จะกล่าวแผนการปรับตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ก็เป็นกล่าวไว้กว้าง ๆ โดยให้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจัดทำขึ้น (ซึ่งทั้งคณะกรรมการฯ และแผนฯ ก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ให้กฎหมายฉบับนี้มารับรอง) แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดกติกา การคุ้มครองสิทธิ การจัดสรรทรัพยากร งบประมาณ การมีส่วนร่วม กลไกปฏิบัติการ และอื่น ๆ ไว้เลย ปล่อยให้เป็นเรื่องของกลไกราชการเดิมที่ทำหน้าที่ออกแบบและนำแผนปรับตัวไปปฏิบัติ ซึ่งผลที่ผ่านมาก็ประจักษ์ชัดแล้ว แผนปรับตัวไม่ได้เป็นที่รับรู้ และมีส่วนช่วยประชาชน และประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบแผนปรับตัวของตนเองแต่อย่างใด

  7. ไม่มีระบบการป้องกันปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากภาวะสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage) ปัญหาดังกล่าวเป็นปลายทางของความล้มเหลวของนโยบาย แผนในการออกแบบป้องกัน สร้างภูมิคุ้มกัน ปรับตัว ทำให้ประชาชนยิ่งเปราะบาง และได้รับความสูญเสียอย่างรุนแรง จนทำให้สหประชาชาติต้องเร่งกำหนดมาตรการ แนวทางป้องกันเยียวยาจากผลกระทบดังกล่าว แต่ในร่างกฎหมายฉบับนี้กลับไม่ได้มีกล่าวถึง ไม่มีระบบรองรับ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่มีเจตจำนงคุ้มครองสิทธิของประชาชนต่อสภาพแวดล้อม

  8. ขาดหลักธรรมาภิบาลในระบบกฎหมาย แม้จะมีการกำหนดให้มีการจัดทำฐานข้อมูลการปล่อยคาร์บอนฯ แต่มาตรา 49 การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะกลับถูกจำกัดหากสร้างความเสียหายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ก่อมลภาวะหรือผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถอ้างความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทำให้สาธารณะไม่สามารถตรวจสอบได้

  9. ข้อจำกัดกองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามมาตรา 24 กำหนดวัตถุประสงค์กองทุน ส่วนใหญ่ให้หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชนกู้ยืมเพื่อทำตามแผนด้านต่าง ๆ ตามกรอบกฎหมาย แต่ไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนเรื่องส่งเสริมการปรับตัว การช่วยเหลือจากภาวะสูญเสียและเสียหาย การปรับตัวของกลุ่มเปราะบาง ประชาชนซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง และไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุน

ปัญหาในเรื่องโครงสร้างที่ไม่กระจายอำนาจ ไม่มีส่วนร่วมของประชาชน

ร่างกฎหมายฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้วจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ปี 2550 มีอำนาจจัดทำแผนนโยบาย ได้แก่ แผนแม่บท แผนลดก๊าซฯ แผนปรับตัว และแผนจัดสรรสิทธิปล่อยก๊าซฯ ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐ และบริหารจัดการกลไกตลาดคาร์บอน ลักษณะการจัดโครงสร้างเป็นแบบรัฐรวมศูนย์ มีนายกฯ เป็นประธาน หน่วยงานราชการเป็นแกนหลัก และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้เชี่ยวชาญ และภาคเอกชนที่เสนอจากสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และสมาคมธนาคารฯ แต่ไม่กำหนดให้มีภาคประชาสังคม ชุมชนมีส่วนร่วมในกลไกนโยบาย และไม่ออกแบบให้กระจายอำนาจ ไม่มีกลไกจัดการร่วมในระดับท้องถิ่น กลไกดังกล่าวจึงยากที่จะเข้าใจสถานการณ์ปัญหาทางนิเวศลังคม ไม่สามารถออกแบบระบบภูมิคุ้มกันการปรับตัวของชุมชนอย่างมีส่วนร่วมได้


ปัญหากระบวนการยกร่างและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

   กระบวนการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ทำในวงผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้มีกระบวนการให้ประชาชนเข้าไปร่วมคิด ร่วมออกแบบ จนเมื่อร่างกฎหมายเสร็จจึงมาจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในระยะเวลาที่จำกัด และในกรอบที่ตายตัว ทำให้ประชาชนไม่มีบทบาทในการออกแบบ กำหนดหลักคิด เนื้อหา โครงสร้างของร่างกฎหมายให้ตอบโจทย์ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรอบด้าน สอดคล้องกับปัญหา ความต้องการ และศักยภาพของประชาชน กระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้หลักคิด เนื้อหาของกฎหมาย แทนที่จะมีกรอบจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรอบด้าน กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมธุรกิจคาร์บอน ดังนั้นควรที่จะมีกระบวนการยกร่างใหม่โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน


ข้อเสนอจากภาคประชาสังคม

  1. รัฐควรจัดทำกระบวนการยกร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศขึ้นมาใหม่ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึง รอบด้าน และเท่าเทียม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงกลุ่มอาชีพที่สุ่มเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวตามนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยต้องสร้างกระบวนการให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างอิสระ

  2. ต้องกำหนดหลักการ การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิในสิ่งแวดล้อม (rights to healthy environment) ให้แก่ประชาชนและชุมชน ทั้งรับรองสิทธิความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิในการดำรงชีพในสภาพภูมิอากาศที่ดี สิทธิของคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นต่อไป สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร สิทธิในวิถีชีวิตและการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสาร สิทธิมีส่วนร่วมในนโยบาย และสิทธิในกลไกยุติธรรมที่จะฟ้องร้องปกป้องสิทธิในสภาพภูมิอากาศที่ดีของประชาชนได้ เป็นต้น โดยทั้งนี้สิทธิในสภาพภูมิอากาศที่ดีของประชาชน รัฐต้องมีหน้าที่คุ้มครอง ไม่สามารถละเมิดด้วยผลประโยชน์อื่นใด ไม่สามารถเอาสิทธิดังกล่าวไปแลกเปลี่ยน ชดเชย ถ่ายโอนดังที่ปรากฏเป็นการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซฯ ภายใต้ระบบตลาดคาร์บอนที่ปรากฏในกฎหมายฉบับนี้

  3. ต้องกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวของสังคมต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย

  4. ต้องมีเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสังคมในทุกภาคส่วนให้รับผิดชอบต่อปัญหาโลกเดือด ตามหลักความรับผิดชอบที่แตกต่าง ที่ผู้ปล่อยคาร์บอนฯ มากจะต้องรับผิดชอบมาก และเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเกื้อกูลนิเวศ ไม่ใช่แค่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

  5. ต้องมีระบบจัดการทุกนโยบาย แผน กิจกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งผลกระทบนิเวศอย่างจริงจัง เช่น แผนพลังงานแห่งชาติ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า นโยบายและแผนเขตเศรษฐกิจ นโยบายและแผนจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทุกประเภท

  6. ต้องกำหนดเพดานและควบคุมการปล่อยก๊าซฯ ของแต่ละภาคส่วนให้สอดคล้องกับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของโลก จัดการปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อภาวะโลกรวนตามหลักความเป็นธรรมทางนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม

  7. ต้องมีระบบการช่วยเหลือ คุ้มครอง ส่งเสริม สร้างความเข้มแข็งชุมชน ประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศให้ชัดเจนและจัดสรรทรัพยากรเพื่อคุ้มครองส่งเสริมให้เพียงพอ

  8. มีระบบป้องกันการฟอกเขียว ตามคำแนะนำของสหประชาชาติ เพื่อไม่ให้เกิดการนำคาร์บอนเครดิตไปชดเชยหรือส่งเสริมธุรกิจที่ปล่อยก๊าซฯ ของตน และต้องป้องกันไม่ให้การผูกขาด ครอบงำ ซึ่งจะป้องกันได้จริง ร่างกฎหมายฯ ต้องมีระบบจัดการลดก๊าซที่มากไปกว่ากลไกตลาด หรือสามารถให้รัฐและสังคมกำกับกลไกตลาดได้

  9. ต้องมีโครงสร้างที่กระจายอำนาจและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการสร้างระบบการตรวจสอบที่ประชาชนสามารถเข้าถึงในทุกระดับ เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance)

พวกเราจึงขอเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีความห่วงกังวลว่าเนื้อหาสาระ และกระบวนการร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.........กำลังไปผิดทาง โดยไม่สร้างความยั่งยืน และความเป็นธรรมให้กับธรรมชาติ และสังคม และเห็นด้วยการข้อเสนอของพวกเรา ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ เพื่อจะเสนอต่อรัฐบาล กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ที่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติโลกเดือดของโลก บนหลักการสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้หลุดจากความเสี่ยงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน


                                                           ด้วยความนับถือ


Acceder a Google para guardar el progreso. Más información
เมื่อร่าง กม.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รัฐเร่งรีบผลักดัน มุ่งแต่ตลาดคาร์บอนเพื่อส่งเสริมภาคทุนอุตสาหกรรม ไม่รับรองสิทธิและความเป็นธรรมของประชาชนต่อสภาพภูมิอากาศ

ขอเชิญประชาชนที่อยากเห็นกฎหมายกู้วิกฤติโลกเดือดได้จริง เลิกฟอสซิล สร้างภูมิคุ้มกันประชาชน ชุมชน ไม่ฟอกเขียว เปิดการมีส่วนร่วมของประชาชน มาร่วมลงชื่อจดหมายเปิดผนึกเพื่อยื่นต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                                                               พลเมืองคือพลังกอบกู้วิกฤติโลกเดือด
ลงชื่อบุคคลหรือองค์กร  *
อีเมล์
Enviar
Borrar formulario
Nunca envíes contraseñas a través de Formularios de Google.